สีธรรมดา
เพื่อให้ได้ผิวที่เรียบสม่ำเสมอตลอดชิ้นงานและไม่เกิดปัญหาต่างๆ ควรคำนึงถึงอุปกรณ์ปืนพ่น หัวพ่นสี ระยะห่างจากปืนถึงชิ้นงาน การเคลื่อนปืนพ่นในแนวดิ่งและแนวนอนสม่ำเสมอ การกราวด์ชิ้นงาน ลมพ่น ท่อนำสี การตั้งค่า KV ปริมาณลมพ่น (Air Flow) การกระจายตัวและการไหลของสี (Fluidization) อุณหภูมิการอบสี การป้องกันฝุ่นและละอองบริเวณพ่น การเตรียมผิว (Pretreatment) การทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ต่าง ๆ และ ความชื้นในบริเวณพ่นชิ้นงาน
สี METALLICS
ในกรณีที่ใช้สีเม็ดบรอนซ์ (Metallics) ที่เป็นชนิดป้องกันการแยกชั้นของเม็ดบรอนซ์และป้องกันการเกิดลายเวลาพ่น (Silver Recycling หรือ Bonded) ปัญหาในเรื่องของสีไม่สม่ำเสมอหรือลายอันเกิดจากการแยกตัวของสีผงกับเม็ดบรอนซ์ (Metallics) จะมีน้อยมาก แต่เพื่อให้การพ่นสีเม็ดบรอนซ์ (Metallics) มีคุณภาพ จึงควร คำนึงถึง ส่วนประกอบ ดังต่อไปนี้
อุปกรณ์ปืนพ่น
ควรปรับค่า KV และค่าปริมาณลมพ่นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและคงค่าเดิมไว้ตลอดเวลาการพ่น เช่น KV ที่ 70 และลมพ่น ที่ 150 กรัม/นาที และเพื่อให้ได้ผลดีควรใช้กระบวนการพ่นออโตเมติก และอาจจำเป็นต้องใช้ปืนที่มีอิเลคโตรดภายนอก เพื่อป้องกันการลัดวงจร
การกราวด์ลงดิน
ควรตรวจสอบสม่ำเสมอถึงการต่อลงดินให้ถูกต้องและไม่มีสีมาจับเกาะทำให้มีปัญหา
การนำสีจากไซโคลนมาใช้ใหม่
ควรผสมสีใหม่ต่อสีดูดกลับจากไซโคลนในอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปกติ
อุณหภูมิและเวลาการอบ
ควรควบคุมอุณหภูมิและเวลาการอบให้สม่ำเสมอและให้อยู่ในค่าที่ต้องการ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสีของเม็ดบรอนซ์ (Metallics) อันเนื่องมาจากอุณหภูมิ
ระยะห่างของปืนพ่นและชิ้นงาน
ควรให้ห่างสม่ำเสมอ และการพ่นควรให้ความเร็วคงที่
สี 2 COAT
ในกรณีที่ต้องการพ่น 2 ชั้น เช่น สีบรอนซ์ (Metallics) หรือสีพิเศษบางชนิด รวมถึงการพ่นสีเคลียร์ (Clear) ทับ ควรพ่นชั้นแรก (Base Coat) และอบประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาที่ต้องอบปกติ (Half Cure Cycle) และพ่นทับด้วยชั้นที่สอง (Top Coat) แล้วอบที่เต็มเวลาปกติ (Full Cure Cycle)